วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความเป็นมาของการปฏิรูประบบราชการ

ความเป็นมาของการปฏิรูปราชการ
เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิรูประบบราชการและช่วยทำความเข้าใจให้ข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องได้คลายความวิตกกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะมาถึง
จะขอใช้โอกาสนี้เค้นเอาความคิดอ่านและการดำเนินการขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาเสนอให้พิจารณา ทั้งเพื่อการรับทราบและจุดประกายให้ออกความเห็นสวนทาง หากแนวความคิดนั้นยังไม่เป็นที่พึงประสงค์
หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานนี้คือ สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำเอกสาร คู่มือในการปฏิรูประบบราชการ ออกมาเมื่อต้นเดือนเมษายน ในชื่อ หลักการและแนวทางในการจัดโครงสร้างและระบบบริหารราชการ มีหลายบทหลายตอนที่น่ารู้ ซึ่งจะค่อยๆ นำมาเสนอเป็นระยะ
คราวแรกนี้จะเป็นการปูพื้นถึงความเป็นมาของการปฏิรูปราชการเสียก่อน
ความคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพและปฏิรูปราชการไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยให้ความสนใจและได้มีการดำเนินงานกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายทศวรรษ เพราะเป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันว่า ระบบราชการในแต่ละยุคแต่ละสมัยมักจะมีปัญหาด้านต่างๆ ที่ต้องแก้ไขปรับปรุงกันเสมอมา กรอบความคิดและทิศทางในการปฏิรูปราชการในแต่ละช่วงมีจุดเน้นและทิศทางในการปฏิรูปที่อาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของระบบราชการและปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในของสังคมในช่วงนั้นๆ ยิ่งในช่วงที่สังคมและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว ระบบราชการซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของสังคมก็ยิ่งจำเป็นต้องปฏิรูปปรับปรุงให้ทันการเปลี่ยนแปลง
จึงอาจกล่าวได้ว่า การปฏิรูปราชการเป็นภารกิจที่จะเป็นต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับบางส่วนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือการปรับปรุงทั้งระบบ ที่เรียกว่าการปฏิรูปราชการขนานใหญ่ ซึ่งในบางห้วงเวลาอาจจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยคุกคามจากภายนอก หรือเมื่อสังคมเห็นว่าระบบราชการที่มีอยู่เริ่มล้าสมัย ไม่ตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชน มีปัญหามากมายหลายด้าน และเป็นเครื่องถ่วงรั้งความเจริญของประเทศ
ความพยายามในการวางกรอบและทิศทางการพัฒนาระบบราชการถูกสะท้อนในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 70 ซึ่งระบุว่า บุคคลที่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน และในมาตรา 75 ที่ระบุว่ารัฐต้องจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เป็นข้อกำหนดที่สะท้อนถึงความจำเป็นและความสำคัญที่รัฐบาล ข้าราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมต้องให้ความสนใจและร่วมมือกันในการจัดระบบราชการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
นับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในปี 2540 เป็นต้นมา มีรัฐบาลมา 3 ชุด รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน แต่ละรัฐบาลได้ทำอะไรในการปฏิรูปราชการบ้าง วันพรุ่งนี้มาดูกัน.
"ซี 12"

ไทยรัฐ วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2545
3 รัฐบาลกับการปฎิรูปราชการ
รัฐบาล 3 ชุดหลังการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ คือรัฐบาลชวลิต-รัฐบาลชวน-รัฐบาลทักษิณ ต่างมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบราชการมากบ้างน้อยบ้าง

รัฐบาลในสมัยของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้จัดทำ “แผนแม่บทการปฏิรูประบบราชการ (2540-2544)” เพื่อเป็นการวางกรอบทิศทางในการปฏิรูประบบราชการด้านต่างๆ ที่สำคัญ ขึ้นในปี พ.ศ. 2540
ต่อมา รัฐบาลในสมัยของ นายชวน หลีกภัย ได้แปลงเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความชัดเจน เรียกว่า “แผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ” เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน โดยได้กำหนดขอบเขตการปฏิรูปภาครัฐ5 แผน คือ

1. แผนการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ และวิธีการบริหารงานของภาครัฐ เป็นแผนงานที่เน้นการ จัดบทบาทภารกิจภาครัฐ ให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสม ตัดภารกิจที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งจะทำให้ภาคราชการมีขนาดที่กระชับ เน้นการพัฒนาระบบการทำงานให้คล่องตัวยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการของประชาชน

2. แผนการปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ การเงินและการพัสดุเป็นระบบงบประมาณ ที่มุ่งเน้นผลงาน ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ เป็นแผนงานที่เน้นการปรับปรุงระบบงบประมาณการเงินและการพัสดุ ให้ทันสมัยเหมาะสมกับ การพัฒนาประเทศและระบบราชการยุคใหม่

3. แผนการปรับเปลี่ยนระบบบริหารบุคคล เป็นแผนงานที่เน้นการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ของระบบการบริหารบุคคลภาครัฐ เพื่อที่ระบบราชการจะมีข้าราชการและบุคลากร ที่มีความสามารถและมีคุณธรรม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิบัติราชการ

4. แผนการปรับเปลี่ยนกฎหมาย เป็นแผนงานที่เร่งปรับปรุงกระบวนการร่างกฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว และสร้างระบบการใช้และการเข้าถึงกฎหมายของประชาชนที่ สะดวกและโปร่งใส และ

5. แผนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยม เน้นการกำหนดค่านิยมและจรรยาบรรณของ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นแผนงานที่เน้นวางแนวทางและมาตรการที่เหมาะสม เพื่อให้ข้าราชการมีการปรับเปลี่ยนวิถีคิดและพฤติกรรม ตามคุณค่านิยมของราชการแนวใหม่ ที่เน้นการบริการประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชน

แผนงานดังกล่าวทั้ง 5 แผน ได้มีการดำเนินงานในบางส่วนแล้ว มีผลงานที่ใช้ในการวางกรอบการปฏิรูป ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ และได้มีการทบทวนเพื่อจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับ สถานการณ์ในแต่ละปีเป็นระยะๆ กิจกรรมและโครงการหลายโครงการมีความก้าวหน้า และมีผลงานที่นำมาใช้เป็นกรอบในการปฏิรูปราชการโดยรวม

มาถึง รัฐบาลปัจจุบัน การปฏิรูประบบราชการถือว่าเป็นนโยบายสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา และในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางแนวทางและเร่งดำเนินงานที่สำคัญๆ ตามแผนงานต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งได้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วหลายประการ โดยเฉพาะงานที่เป็น หัวใจสำคัญของการปฏิรูปราชการ ได้มีการดำเนินการในเบื้องต้นแล้วหลายส่วน ได้แก่ การปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างหน่วยงานราชการใหม่ให้เหมาะสม การกำหนดแนวทาง ในการปฏิรูปวิธีการงบประมาณ และการวางแนวทางในการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ

สิ่งที่กล่าวมานี้ มาถึงจุดที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเข็นกฎหมาย 2 ฉบับ เข้าสภาในขณะนี้.
"ซี 12"
Thairath 25/04/45
เป้าหมายการปฏิรูป
เมื่อปูพื้นความเป็นมาในการปฏิรูประบบราชการแล้ว ก็มาทำความเข้าใจกันถึงเป้าหมาย ในการปฏิรูประบบราชการ

การปฏิรูประบบราชการ หมายถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบราชการให้มีความเหมาะสม และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ระบบการบริหารงานดีขึ้น ระบบราชการมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และสมรรถนะเพิ่มขึ้น และสามารถเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนและสังคมมากขึ้น

โดยทั่วไป กระบวนการปฏิรูประบบราชการในแต่ละประเทศ จะถูกออกแบบและมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ตามความจำเป็น ของระบบราชการและความรุนแรงของปัญหาในประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของกระบวนการปฏิรูประบบราชการมักจะครอบคลุม การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในประเด็นใหญ่ ตั้งแต่การปรับปรุงบทบาทภารกิจและหน้าที่ของรัฐ การวางระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจในระดับต่างๆ การจัดโครงสร้างองค์กร การจัดระบบราชการใหม่ให้รับใช้ตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชน ระบบบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน ระบบบริหารบุคคลภาครัฐ กฎระเบียบต่างๆ และการปรับค่านิยมวัฒนธรรมขององค์กรและพฤติกรรมของข้าราชการ

การดำเนินงานแต่ละส่วนก็เพื่อทำให้ระบบราชการมีสมรรถนะสูง เป็นระบบราชการที่มีผลงาน และความสามารถสูง (High performance civil service) สามารถเป็นกลไกที่สำคัญของรัฐบาล ในการบริหารประเทศชาติ เพื่อเอื้ออำนวยให้รัฐบาลที่เป็นผู้แทนประชาชน เป็นรัฐบาลที่มีสมรรถนะ และผลงานสูง (High performance government) ได้อย่างแท้จริง และเมื่อระบบราชการร่วมกับรัฐบาล สามารถทำงานอย่างเต็มศักยภาพ ประเทศก็จะมีระบบเศรษฐกิจที่มีสมรรถนะสูง (High performance economy) คือมีศักยภาพและความสามารถที่จะแข่งขันในระดับโลกได้ ส่งผลให้ประชาชนทั้งประเทศ มีรายได้ และความเป็นอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เป็นสังคมที่มีมาตรฐานสูง (High living-standard society) คือเป็นสังคมที่ประชาชนโดยรวมมีมาตรฐานในการดำรงชีวิตที่สูง เมื่อมีภาครัฐเป็นแกนนำที่ดี และเข้มแข็ง ก็จะสามารถนำสังคมโดยรวมให้มีคุณค่าทางคุณธรรมสูง (High moral-standard society) อันจะทำให้สังคมโดยรวมมีศักยภาพทางสังคมที่ทัดเทียมสังคมอารยะ

กระบวนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะต้องทำให้ระบบราชการเป็นระบบที่มีคุณค่า เพื่อสร้างความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน ภาคเอกชน และสังคมโลก ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องสร้างบุคลากรของระบบ ราชการ ก็คือ “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ” ให้มีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติและพฤติกรรม ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติงาน มีคุณธรรม สุจริต กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ กล้ายืนหยัดและทำใน สิ่งที่ถูกต้อง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นมืออาชีพ

เป้าหมายอันสวยหรูเหล่านี้ เมื่อมาพิจารณาประกอบกับความเป็นจริง ในสังคมไทยแล้วใจหาย... ใจหายที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงได้เมื่อไหร่.
"ซี 12"
ไทยรัฐ วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2545

ทำไมต้องปฏิรูปราชการ
เขียนทิ้งไว้เมื่อตอนกลางเดือนเมษายนว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการ ปฏิรูประบบราชการเอาไว้อย่างคมคาย และบอกด้วยว่า หากใครสนใจให้ร้องขอมาจะได้หยิบ มาให้อ่านกันอีกหน

เสียงเรียกร้องจากข้าราชการที่สนใจจึงติดตามมาทันที วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำเอาประเด็น ต้นเหตุของการที่ควรจะปฏิรูประบบราชการตามทรรศนะของปรมาจารย์ทางกฎหมายท่านนี้ มาให้พิจารณา

ท่านได้กล่าวในการแสดงปาฐกถานำในการสัมมนาเรื่อง การปฏิรูประบบบริหารราชการกับการปรับ ตัว ของข้าราชการไทยยุคใหม่ ซึ่ง สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาข้าราชการ จัดขึ้นเมื่อตอนต้นเดือนเมษายน ในประเด็นนี้ว่า

“เราลองย้อนกลับไปดูว่า แล้วในที่สุดสภาพที่มันจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราต้องจำเป็นต้องปฏิรูประบบ ราชการมันมีอะไรบ้าง ผมลองคิดเร็วๆ คิดว่ามันมีสัก 6 อย่าง

อย่างที่หนึ่ง คือ เรามีภารกิจมากเกินไป รัฐมีภารกิจมากเกินไป อะไรๆ เราก็คิดจะทำไปหมด เพราะเรานึกว่า เรานึกอย่างสมัยโบราณนึกว่า รัฐเท่านั้นที่เก่ง รัฐเท่านั้นที่มีคนดีคนเก่ง รัฐเท่านั้นที่มีเงิน รัฐเท่านั้นที่มีความพร้อม เพราะฉะนั้น อะไรๆ เราก็อยากจะทำ แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่เป็นความจริงอีกแล้ว ในปัจจุบันนี้ รัฐไม่ได้เก่งคนเดียวอีกแล้ว ดร. ที่เคยจบกันมาแล้วต้องมาทำราชการนั้น บัดนี้ไม่ใช่ ค่อนหนึ่งไปอยู่ภาคเอกชน น้อยนิดเดียวที่จะมาอยู่ราชการพลเรือน ส่วนใหญ่จะอยู่ใน ราชการมหาวิทยาลัย ซึ่งก็รู้แต่ตำรา ไม่ได้ปฏิบัติในราชการพลเรือนจริงๆ ก็เหลือน้อยมาก ที่มีอยู่สมัยก่อนๆ ก็เริ่มจะเกษียณกันไป เพราะฉะนั้น คนเก่งที่สุดไม่ได้อยู่ในราชการอีกแล้ว เงินที่ว่ามีก็ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ราชการจะลงทุนอะไรทีก็มองซ้ายมองขวาหาเงินไม่ได้ เอกชนเขาสามารถที่จะไปหยิบไปยืมไปกู้มาได้ง่ายๆ สะดวกด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้น ความคิดที่ว่ารัฐจะต้องทำทุกอย่าง เพื่อนัยว่า ว่าทำนุบำรุงสุขให้แก่ราษฎร มันจึงเป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้อีกแล้ว ความจริงในปัจจุบันรัฐจะต้องทำเท่าที่จำเป็น ที่จำเป็นจริงๆ ถ้าอะไรที่เอกชนเขาทำได้ต้องปล่อยให้เอกชนเขาทำ เพื่ออะไร เพื่อเอกชนทำไปแล้วเขาจะขาดทุน กำไรก็แล้วแต่ เราไม่ต้องไปเดือดร้อนด้วย เรามีหน้าที่แต่ส่งเสริมสนับสนุนให้เขาร่ำรวยขึ้น แล้วเราก็นั่งกระดิกเท้าเก็บภาษีเขามาร้อยละ 30 ใครเคยทำธุรกิจบ้าง มีไหมใครได้กำไรร้อยละ 30 ยาก แต่รัฐนี่นั่งกระดิกเท้าเฉยๆ ทำให้คนอื่นเขารวยแล้วเราก็ได้ร้อยละ 30 โดยไม่ต้องลงทุน เพราะฉะนั้น แนวคิดสมัยใหม่คือ รัฐอย่าไปทำอะไรเลย ปล่อยให้คนอื่นเขาทำ ภาระใดที่ไม่จำเป็นจะต้องไปยุ่งก็อย่าไปยุ่ง ภาระใดที่ควรจะเข้าไปยุ่ง ก็ยุ่งให้น้อยที่สุด คราวนี้ที่ผ่านมาเมื่อเราคิดว่าเราจำเป็นจะต้องทำ เราก็จะโถมทำ เมื่อทำต่างหน่วยต่างก็ทำ ความซ้ำซ้อนก็เกิดขึ้น เขาสำรวจพบว่าเพียงเรื่องแหล่งน้ำเกี่ยวกับน้ำ มีหน่วยงานทำตั้งยี่สิบสามสิบหน่วย เพราะฉะนั้น การประสานการจะทำงานให้สุดเป้าหมายก็ไม่เกิด เพราะมันต่างคนต่างทำ ความจำเป็นที่จะต้องประหยัดเพื่อให้ได้ผลผลิต หรือคุณภาพที่ประสิทธิภาพที่สูงก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะต่างคนต่างทำ ทุกคนก็ต้องลงทุน และทุกคนก็ต้องใช้คน คนก็จะมากขึ้น

ประการที่สอง รัฐไม่มีเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ของงานที่แท้จริง เราลองดูเถอะครับเวลาที่เรา ตั้งงบประมาณแต่ละปี เราก็บอกว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องใช้เงินเท่านี้ ถามเคยมีบอกไหมว่าแล้ว เมื่อเอาเงินเท่านี้ไปแล้ว จะทำให้เด็กดีขึ้นมาเท่าไหร่ มีเด็กจบเท่าไหร่ เด็กไม่ซ้ำชั้นเท่าไหร่ การศึกษาจะได้ผลดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ไม่มีตัวชี้วัดไม่มี ใช้จนหมดเงินงบประมาณ ถ้าใช้ไม่หมดก็ไปทาสีรั้วเสีย มันจะได้หมด ไม่ต้องไปคืนสำนักงบประมาณ เมื่อเป้าหมายไม่มี เราจะไปหวังการประเมินผลการตรวจสอบให้มันเกิดความชัดเจนก็ย่อมไม่ได้”

วันนี้ได้สาเหตุมาเพียงสองประการ วันต่อๆ ไปสนุกกว่านี้อีก.
"ซี 12"
ไทยรัฐ วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2545

ทำไมต้องปฎิรูปราชการ (2)
ข้อคิดถึงสาเหตุที่จะต้องมีการปฏิรูประบบราชการของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในประการต่อมายิ่งน่าติดตาม ท่านระบุว่า

“ประการที่สาม รัฐไม่มีต้นทุน ใช้คนมากไม่คุ้มค่า เนื่องจากทุกอย่างเป็นงบประมาณ ทุกคนบ่นเหมือนกันหมด หนึ่งเงินไม่พอ สองไม่มีคนทำงาน คนไม่พอ แต่ถามว่า ในงานอย่างเดียวกันนะ ถ้าเอกชนเขาทำใช้เงินเท่าเราไหม ก็ตอบไม่เท่า สองใช้คนเท่าเราไหมก็ตอบไม่เท่าอีก แต่ทำไมเขาทำได้ดีกว่า ก็เพราะว่าเราไม่มีต้นทุนนี่ครับ ตั้งงบประมาณได้เท่าไหร่เราก็ทำเท่านั้น งานชิ้นหนึ่งแทนที่จะทำได้คนเดียว เราต้องใช้คนหลายคนทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาบริษัทเขามีเลขาฯ เจ้าเลขาฯ คนนี้มันทำงานตั้งแต่รับโทรศัพท์ รับหนังสือ พิมพ์หนังสือ ร่างหนังสือ นัดหมาย ตัดสินใจบางเรื่องแทนนายได้หมด แต่พวกเราในที่นี้หลายคนอาจเป็นเลขาฯ หลายคนอาจจะมีเลขาฯ ถามว่า เมื่อเราจะร่างหนังสือฉบับหนึ่งทำยังไง เลขาฯ ก็รับคำสั่งไปแล้วสั่งต่อไปยังแผนกร่างหนังสือ แผนกร่างหนังสือร่างเสร็จส่งไปยังแผนกพิมพ์ แผนกพิมพ์พิมพ์เสร็จส่งไปยังแผนกตรวจ แล้วย้อนกลับ ขึ้นมาใหม่ งานเดียวแต่เราต้องใช้คนตั้งเยอะ เพราะเราไม่มีต้นทุน แล้วก็เมื่อไม่มีต้นทุนเราก็ใช้คนได้ แล้วในที่สุดคนก็ไม่พอ เพราะแต่ละคนทำงานไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยทำไปนานๆ ก็รู้สึกว่ามันเหนื่อย แต่ความจริงผมรู้สึกว่าเท่าที่ผมเอง ผมก็รับราชการ มันก็มีคนเหนื่อยแต่ก็นึกว่าไม่ใช่ความเหนื่อย มันเป็นความหน่าย ความหน่ายจึงเกิดความเคยชินมาก เพราะใหม่ๆ ทุกคนมาทำงานก็กระตือรือร้น อยากจะทำ แต่เอาเข้าจริงพอถึงเวลางานก็ไม่มี มาใหม่ๆ สร้างวิมาน สร้างสวรรค์อะไรกันเยอะแยะ ความก้าวหน้า ความสัมฤทธิผลอะไรต่ออะไรคิด พออยู่ๆ ไปสักพักเราก็ถูกครอบ แล้วมันก็เกิดความหน่ายมากกว่าความเหนื่อย

ประการที่สี่ ราชการเราทำงานตามระเบียบโดยระเบียบและเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ ดูเหมือนคือ เป้าหมายของราชการเราไม่ถือเอาความคุ้มค่าหรือผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นเกณฑ์ เวลาเราตรวจสอบเราจะไปตรวจสอบว่า เขาทำถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ เราไม่สนใจเลยว่า ในการทำถูกต้องตามระเบียบนั้น ต้องเสียเงินเสียทองไปเท่าไหร่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ และผลงานล้มเหลวไปอย่างไร ไม่สนใจ เพราะราชการไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้น เขาออกระเบียบออกมาเป็นตอนเป็นเรื่องๆ จนปัจจุบันนี้ ผมไม่เชื่อว่ามีใครในเมืองไทยรู้ว่า ระเบียบราชการมีอะไรบ้าง เมื่อเร็วๆ นี้ดูเหมือน ก.พ. จะใช้เงินไปสิบล้านเพื่อไปสำรวจว่ามัน มีระเบียบอะไรบ้าง และไม่ทราบว่าออกมาได้ครบถ้วนหรือไม่ ต่างคนต่างก็รู้คนละนิด คนละหน่อย เพราะออกมาสะสมทับถมกันไป ถามเราไม่ทำตามระเบียบได้ไหม ไม่ได้ เพราะ ป.ป.ช. เขายึดระเบียบ ป.ป.ช. จะไม่สนใจอะไรเลย ว่าท่านทำความเสียหายให้แก่ราชการกี่ร้อยล้านกี่พันล้าน ตราบเท่าที่ท่านทำถูกต้องตามระเบียบ และจะไม่สนใจเลยว่า ท่านจะทําประโยชน์ให้แก่ ราชการกี่ร้อยล้านพันล้าน เพียงถ้าท่านทำผิดระเบียบนิดเดียวเขาก็ว่าท่านทำผิดแล้วก็ลงโทษท่าน ซึ่งวิธีคิดอย่างนี้ ผมคิดว่าเอาเด็ก ป.4 มาคิดก็ได้ ไม่ต้องคนระดับสูงๆ อย่างนั้น ผมเคยทะเลาะกับ ป.ป.ป. มาสมัยก่อนนั้นไม่น้อยทีเดียวในเรื่องนี้ เพราะเขาจะเอากันแต่เรื่อง พรรณอย่างนี้ แต่ว่ามันก็เป็นชีวิต เป็นเส้นเลือดเป็นหัวใจของราชการ ถามว่า พูดจะยุให้ข้าราชการไม่ทำตามระเบียบอย่างงั้นหรือ ไม่ใช่ แต่หมายความว่า มันต้องมีคนรู้จักคิดว่า ไอ้ระเบียบนี้มันใช้ได้หรือไม่ได้ ระเบียบนี้มันควรจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่”

ข้อคิดในประการที่สี่นี้ ยังมีในเรื่องระเบียบอีก แต่จำเป็นต้องตัดไปเพื่อว่าพรุ่งนี้ จะได้ขึ้นประการที่ห้าและประการที่หกจนครบถ้วน.
"ซี 12"
ไทยรัฐ วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
ทำไมต้องปฏิรูปราชการ (3)
ชุดนี้เป็นชุดสุดท้าย สำหรับความคิดความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในเรื่องสาเหตุของการปฏิรูประบบราชการ

“ประการที่ห้า คุณค่าของราชการในสายตาราชการอยู่ที่ปริมาณของงาน ไม่ได้อยู่ที่คุณภาพและ ความสำเร็จของงาน กฎ ก.พ. ระเบียบ ก.พ. และแนวคิดของ ก.พ. ที่ใช้แต่เดิมนั้น ใช้ปริมาณของงานเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เมื่อใช้ปริมาณของงานเป็นหลัก คนทุกคนก็ต้องรวบรวม ปริมาณของงานนั้นไว้ สำนักงานเลขานุการกรม จะดูว่าควรจะเป็น แปด เจ็ด หรือ หก ก็ดูจำนวนหนังสือเข้าหนังสือออก เพราะว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็ต้องเอากระดาษของหลวง มาทำหนังสือเข้าหนังสือออก ผมก็เคยไปถามเขาว่า ทำไมจดหมายขี้หมูราขี้หมาแห้งฉบับหนึ่ง กว่าจะมาถึงผมมันใช้เวลาตั้งสิบวัน ผ่านคนมาสิบสองคนแล้ว แต่ละคนก็ไม่ได้ทำอะไร นอกจากจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ก็ไอ้ตรงนั้นก็ไม่ต้องเขียนอะไรก็ได้ นี่ผมเลยถามว่าตัดซะไม่ได้หรือ จากแผนกสารบรรณ รับปั๊บแล้วส่งมาที่ผมเลย แล้ววันหลังจะทำอะไรก็ค่อยไปทำ เขาบอกไม่ได้ นี่คือผลงานของเขา ก็แปลว่า หนังสือขี้หมูราขี้หมาแห้งหนึ่งฉบับ จะมีคนเอาไปเป็นผลงานถึงสิบสองคน เพราะทุกคนเซ็นเพื่อโปรดพิจารณา แล้วทุกคนก็เอาไปทำเป็นปริมาณงาน แล้วในที่สุดก็จะได้เป็นหัวหน้างาน หัวหน้างานก็เป็นซี 7 ก็ต้องมีลูกน้อง

ประการสุดท้าย ภาระงานที่มากขึ้นกระจายไปอยู่ทั่วประเทศ ทุกมุมเมือง แต่อำนาจตามระบบกฎหมายยังอยู่ที่คนคนเดียว คือตัวอธิบดี หรือตัวปลัดกระทรวง สุดแต่ว่าเป็นเรื่องระดับไหน การกระจายอำนาจที่กฎหมายพยายามจะแก้แล้ว แก้อีกให้มีการมอบอำนาจกันออกไป ก็ยังเป็นเรื่องของความสมัครใจ มอบแล้วก็ไม่แน่ใจว่าไอ้คนทำมันจะรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ความรับผิดชอบของตัวจะย้อนกลับมามากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้น การมอบอำนาจก็จะมีน้อย และเรื่องทุกเรื่องก็จะวิ่งเข้าหาตัวเจ้าของอำนาจที่แท้จริง คือ อธิบดี หรือปลัดกระทรวง ถามว่า เมื่อเขาจะขออนุญาตกันอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใครมันรู้เรื่องดีที่สุด ก็ตอบว่า ไอ้คนที่อยู่แม่ฮ่องสอนมันรู้เรื่องดีที่สุด ถามว่า แล้วต้องทำยังไง มันต้องทำหนังสือส่งมาผ่านเสมียนก่อนที่กรม แล้วก็เรื่อยขึ้นมาจนกระทั่งถึงผู้อำนวยการกอง และผู้อำนวยการกอง จะเสนอไปยังรองอธิบดี ถ้ามีผู้ช่วยก็จะเสนอผ่านผู้ช่วยถึงรอง รองไปถึงอธิบดี ถ้าเป็นอำนาจปลัดกระทรวง ก็ต้องไปสำนักงานปลัดกระทรวงไปย้อนต้น ตั้งแต่ไอ้ ซี 3 นั่นใหม่ กว่าจะทำความเห็นขึ้นไปปลัดกระทรวง แล้วคนนึงใช้เวลา 7 วัน มันก็เป็นปีๆ กว่าจะไปถึง ถามว่า แล้วทั้งหมดน่ะฟังใคร ก็ฟังไอ้คนที่แม่ฮ่องสอนมันบอกมาไง ก็จะไปรู้อะไรได้ ทำไมเราไม่ใช้คนที่แม่ฮ่องสอนมันตัดสินใจไปเลย แล้วถ้ามันผิดจะถูกยังไง ก็จับมันเข้าคุกเข้าตะรางกันไปเสีย ให้เงินเดือนเขาเยอะๆขึ้นมาหน่อย ถ้าทำอย่างงั้นจะได้ไหม นี่ก็เป็นแนวคิดว่า เราอยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราต้องเริ่มกระจายลงไป งานบางเรื่องบางราวมันไม่ควรจะต้องขึ้นมาถึงข้างบน ข้างบนจะได้มีเวลาไปคิดอ่านทำอะไรต่ออะไรให้มันกว้างขวาง ให้มันกว้างไกล ไปกว่าที่จะมานั่งเช็กหนังสือ”

นี่แหละครับ ลีลาและคารมของคนสำคัญในแผ่นดิน ที่รู้แจ้งแทงตลอดในเรื่อง ระบบราชการไทยที่จำเป็นจะต้องปฏิรูป

ที่จริงยังมีความเห็นต่ออีกว่า เมื่อจะปฏิรูปควรจะปฏิรูปไปสู่อะไร แต่เอาไว้สักระยะหนึ่ง ค่อยมาติดตามกัน พรุ่งนี้จะได้ว่าถึงเรื่องอื่นๆ ในวงราชการบ้าง.
"ซี 12"
Thairath 02/05/45

แนวคิดการกระจายอำนาจ

แนวคิดการกระจายอำนาจ
2.1.1. แนวคิดและทฤษฎีการกระจายอำนาจ
การกระจายอำนาจ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ มีหลักสำคัญคือ เป็นการโอนอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปให้ประชาชนในท้องถิ่นดำเนินการกันเอง ภายใต้ระเบียบ กฎหมายที่กำหนด หรือที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบการปกครองตนเอง
ความหมายของการกระจายอำนาจ
อารีย์ วงศ์อารยะ (2528) ให้คำนิยามว่า การกระจายอำนาจ หมายถึง การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจภารกิจบางอย่าง ในความรับผิดชอบของส่วนกลางไปให้ส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บริหาร และวินิจฉัยสั่งการ เป็นอิสระภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้
ประยูร กาญจนดุล (2538) ให้ความหมายว่า การกระจายอำนาจ หมายถึง การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจภารกิจบางอย่างในความรับผิดชอบของส่วนกลางให้องค์กรอื่น นอกจากองค์กรของราชการบริหารราชการส่วนกลางเพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง โดยมีความอิสระตามสมควร ไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของราชการส่วนกลาง เพียงแต่อยู่ในความควบคุมเท่านั้น
ธเนศวร์ เจริญเมือง (2539) ให้ความหมายของการกระจายอำนาจว่า หมายถึง ระบบการบริหารประเทศที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจในการจัดการดูแลกิจการหลายๆ ด้านของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจในการจัดการกิจการแทบทุกอย่างของท้องถิ่น กิจการท้องถิ่นต้องมีสิทธิจัดการดูแล มักได้แก่ระบบสาธารณูปโภค การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม การดูแลทรัพย์สินและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนกิจการใหญ่ๆ อย่างที่รัฐบาลกลางจะควบคุมไว้เด็ดขาด เช่น การทหาร และการต่างประเทศ
ลักษณะของการกระจายอำนาจ
1.มีการแยกหน่วยงานออกเป็นองค์กรนิติบุคคล อิสระจากองค์การบริหารราชการส่วนกลาง เพื่อการดำเนินงานที่ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนซึ่งต้องมีงบประมาณเป็นของตนเอง มีทรัพย์สิน หนี้สิน และเจ้าหน้าที่เพื่อการปฏิบัติงานของตน
2.มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปตามหลักการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เพื่อเลือกตั้งตัวแทนของตนเองไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.มีวิธีการกระจายอำนาจเป็น 2 ลักษณะ คือ
3.1.การกระจายอำนาจบริหารทางเขตแดน (Territorial Decentralization) หรือเรียกอีกอย่างว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายถึง การจัดองค์กรบริหารโดยใช้อาณาเขตของท้องถิ่นและจำนวนประชากรภายในเขตพื้นที่นั้น เป็นหลัก ได้แก่ องค์กรบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือการจัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเอง
3.2.การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Decentralization by Service) หมายถึง การมอบอำนาจให้องค์กรสาธารณะ จัดทำกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง เพื่อให้มีความอิสระในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับเทคนิค เช่น รัฐวิสาหกิจประเภทต่างๆ อาทิ เช่น การไฟฟ้า การประปา หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
4.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลาง การปฏิบัติตามหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติหรือกระทำภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลางเป็นหลัก การกำกับดูแลเป็นมาตรการควบคุมลักษณะหนึ่ง ซึ่งกระทำต่อเมื่อมีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน อันเป็นหลักการสำคัญของการกระจายอำนาจทางการปกครอง (ประยูร กาญจนดุล, 2538)
ความสำคัญของการกระจายอำนาจ
1.การกระจายอำนาจเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยที่การปกครองท้องถิ่นเป็นเสมือนสถาบันในการอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง และเรียนรู้ในหลักการประชาธิปไตย ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกมีส่วนได้ส่วนเสียในการปกครองท้องถิ่น เกิดความรับผิดชอบและหวงแหนต่อประโยชน์ของท้องถิ่น
2.การกระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนรู้จักบริหารและปกครองตนเองในการสร้างสรรพัฒนาท้องถิ่น มิใช่แต่เพียงรอนโยบายความช่วยเหลือจากส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียว
3.การกระจายอำนาจช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลกลาง ทั้งนี้กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นดังกล่าวบางอย่างถือว่าเป็นภารกิจของรัฐบาลที่มอบอำนาจให้ดำเนินการ เป็นไปตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิด และรู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาล
4.การกระจายอำนาจมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านการพัฒนาชนบท ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ในลักษณะที่มีความเป็นอิสระพอสมควร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

ความรู้

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔