วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระปฐมบรมราชโองการ




พระปฐมบรมราชโองการ

ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


พระปฐมบรมราชโองการนี้ สงเคราะห์เข้าในหลักทศพิธราชธรรม สมดังพระพุทธวจนะว่า
ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
ตโต เต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ
ขอพระองค์ผู้เป็นบรมกษัตริยาธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้
ทาน การให้ ๑
สีลํ การตั้งสังวรรักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดปราศจากโทษ ๑
ปริจฺจาคํ การบริจาคสละ ๑
อาชฺชวํ ความซื่อตรง ๑
มทฺทวํ ความอ่อนโยน ๑
ตปํ การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว ๑
อกฺโกธํ การไม่โกรธ ๑
อวิหึสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก ๑
ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทนเป็นเบื้องหน้า ๑
อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย ๑
บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ ๑๐ ประการ ลำดับนั้นพระปีติและโสมนัสมีประมาณไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ดังนี้
คำโศลกแสดงธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นภาษิตของบัณฑิตผู้เกิดนอกพุทธกาลมาก่อน ภายหลังจึงนำมาร้อยกรองเป็นคำสอนในคัมภีร์พุทธศาสนา เพราะมี ๑๐ อย่าง จึงเรียกว่า ทศพิธ เพราะเป็นธรรมสำหรับพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน จึงเรียกราชธรรม
อนึ่ง หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองยังได้แก่ ราชสังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และพละกำลังของพระมหากษัตริย์เจ้า อันโบราณบัณฑิตได้กล่าวแสดงไว้โดยปริยายอื่นอีก
สังคหวัตถุ คือ พระราชจรรยานุวัตร เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์ยึดหน่วงน้ำใจประชาชน เป็นราชนิติธรรมเก่าแก่ มีที่มาทั้งในทางพุทธศาสน์และพราหมณศาสน์ จำแนกเป็น ๕ ประการ แสดงอธิบายตามทางพุทธศาสน์คือ:
สสฺสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารผลาหารให้บริบูรณ์ในพระราชอาณาเขตโดยอุบายนั้นๆ เพื่อให้สรรพผลอันเกิดแต่เกษตรมณฑลอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคหวัตถุที่ ๑
ปุริสเมธํ ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษ คือสงเคราะห์พระราชวงศานุวง์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้ประกอบราชกิจฉลองพระคุณ ทั้งฝ่ายทหารทั้งฝ่ายพลเรือนด้วยวิธีนั้นๆ เป็นต้น ว่าทรงยกย่องพระราชทานยศฐานันดรศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ โดยสมควรแก่กุลวงศ์ วิทยาสามารถและความชอบในราชการ เป็นสังคหวัตถุที่ ๒
สมฺมาปสํ อุบายเครื่องผูกคล้องน้ำใจประชานิกรให้นิยมยินดี คือ ทรงบำบัดความทุกข์เดือดร้อน บำรุงให้เกิดความสุข ความเจริญแก่ราษฎร และบ้านเมืองด้วยอุบายต่างๆ ปรากฏพระคุณเป็นเครื่องผูกใจประชาชนให้จงรักภักดียิ่งๆ ขึ้น เป็นสังคหวัตถุที่ ๓
วาจาเปยฺยํ ตรัสพระวาจาอ่อนหวานควรดื่มไว้ในใจ ทำความเป็นที่รักให้เกิด เช่น ทรงทักทายปราศรัยแก่บุคคลทุกชั้น ตลอดถึงราษฎรสามัญทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย โดยควรแก่ฐานะและภาวะ เป็นสังคหวัตถุที่ครบ ๔
๔ สังคหวัตถุนี้ เป็นอุบายให้เกิดสุขสมบัติ ซึ่งได้นามบัญญัติว่า นิรคฺคฬํ รัฐมณฑลราบคาบปราศจากโจรภัย จนถึงมีทวารเรือนไม่ลงกลอนเป็นคำรบ ๕
สํ.ส. ๑๕/๓๕๑/๑๑๐; องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๓๙/๕๔; องฺ. อฏฐก. ๒๓/๙๑/๑๕๒
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๐๕/๒๔๖; ขุ. สุ. ๒๕/๓๒๓/๓๘๓; สํ. อ. ๑/๑๖๙; อิติ. อ. ๑๒๓

จักรวรรดิวัตร คือ พระราชจรรยานุวัตรสำหรับพระเจ้าจักรพรรดิพระราชาเอกในโลก ท่านแสดงไว้โดยความว่า พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ปกครองประชาชน ทรงอิงอาศัยสักการะ เคารพนับถือ บูชาธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นใหญ่เป็นอธิบดี ทรงจัดการรักษาคุ้มครองป้องกันอันประกอบด้วยธรรมให้เนื่องในจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ คือ
ที่ ๑ ควรพระราชทานโอวาทและอนุเคราะห์อันโตชนคนภายในพระราชสำนัก และทรงอนุเคราะห์คนภายนอก คือพลกายกองเสนาด้วยประการต่างๆ จนถึงราษฎร ไม่ปล่อยปละละเลย
ที่ ๒ ควรทรงผูกพระราชไมตรีสมานราชสัมพันธ์มิตรกับกษัตริย์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศนั้นๆ
ที่ ๓ ควรทรงสงเคราะห์อนุยันตกษัตริย์ คือพระราชวงศานุวงศ์ ตามสมควรแก่พระอิศริยยศ
ที่ ๔ ควรทรงเกื้อกูลพราหมณ์ คฤหบดี และคฤหบดีชน
ที่ ๕ ควรทรงอนุเคราะห์ประชาชนชาวนิคมชนบทโดยฐานานุรูป
ที่ ๖ ควรทรงอุปการะสมณฑราหมณ์ผู้มีศีลประพฤติชอบ ด้วยพระราชทานไทยธรรมบริกขารเกื้อกูลแก่ธรรมปฏิบัติ
ที่ ๗ ควรทรงจัดรักษาฝูงเนื้อและนกด้วยพระราชทานอภัยไม่ให้ใครเบียดเบียน ทำอันตรายจนเสื่อมสูญพันธุ์
ที่ ๘ ควรทรงห้ามชนทั้งหลายไม่ให้ทำกิจการที่ไม่ประกอบด้วยธรรม ชักนำให้ตั้งอยู่ในกุศลสุจริตส่วนชอบ ประกอบการเลี้ยงชีพโดยทางธรรม
ที่ ๙ ชนใดขัดสนไม่มีทรัพย์พอเลี้ยงชีพโดยสัมมาอาชีวะได้ ควรพระราชทานพระราชทรัพย์เจือจานให้เลี้ยงชีพ ด้วยวิธีอันเหมะสม ไม่แสวงหาด้วยทุจริต
ที่ ๑๐ ควรเสด็จเข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ตรัสถามถึงบุญบาปกุศลอกุศลให้ประจักษ์ชัด
ที่ ๑๑ ควรทรงตั้งวิรัติห้ามจิตไม่ให้เกิดอธรรมราคะในอคนิยสถาน ที่อันไม่ควรถึง
ที่ ๑๒ ควรทรงประหารวิสมโลภเจตนา ห้ามจิตมิให้ปรารถนาลาภที่ไม่ควรจะได้
ที. ปา. ๑๑/๓๕/๖๕

พละกำลังของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ๕ ประการ คือ
ข้อ ๑ กายพลํ กำลังพระกาย สมบัตินี้เกิดแต่ทรงผาสกสบายปราศจากพระโรค เพราะพระมหากษัตริย์ย่อมทรงเป็นจอมทัพ ทั้งต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณีย์ต่างๆ จำต้องทรงพละกำลังเข้มแข็ง ถ้าขาดสมบัติข้อนี้แม้แต่จะทรงราชการก็คงไม่สะดวกได้ดี จึงควรบริหารพระองค์ให้ทรงพละกำลัง
ข้อ ๒ โภคพลํ กำลังคือโภคสมบัติ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีพระราชกิจที่พึงทรงจัด ทรงทำ และพึงมีบุคคลที่พึงบำรุงเลี้ยงเป็นอันมาก จึงควรทรงขวนขวายบำรุงกสิกรรมพานิชกรรมเป็นต้น อันเป็นทางเกิดแห่งพระราชทรัพย์ให้ไพศาล
ข้อ ๓ อมจฺจพลํ กำลังคืออำมาตย์ อันพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า มีราชการที่จะทรงทำมากกว่ามาก จึงต้องมีอมาตย์ผู้ใหญ่น้อยเป็นกำลังทางนิติบัญญัติ ทางบริหารและทางตุลาการ จึงควรทรงสอดส่องวุฒิของหมู่อมาตย์แล้วยกย่องและบำราบตามควรแก่เหตุ
ข้อ ๔ อภิชจฺจพลํ กำลังคือพระชาติสูง สมบัติข้อนี้เป็นที่นิยมของมหาชน เป็นผลที่มีมาเพราะปุพเพกตปุญญตา คือได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอบรมมาแต่ในกาลก่อน เป็นเหตุให้ประพฤติดีประพฤติชอบได้โดยง่าย
ข้อครบ ๕ ปญฺญาพลํ กำลังคือปัญญา พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงประกอบพระราโชบายให้ลุล่วงอุปสรรคทั้งหลาย ต้องทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ รอบคอบและสามารถ จึงควรทรงแสวงหาทางมาแห่งปัญญา ด้วยทรงวิจารณ์เหตุการณ์ภายในภายนอก อันเป็นไปในสมัยเพื่อพระญาณแจ้งเหตุผลประจักษ์ชัด
ขุ. ชา. ๒๗/๒๔๔๔/๕๔๓; ช. อ. ๗/๓๔๘

ที่มา: คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. 2530. พระบรมราโชวาท. ทรงวิทย์ แก้วศรี, ประภาส สุระเสน, ชนินท์ สุขเกษี และ ประสิทธิ์ จันรัตนา (บรรณาธิการ). จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐. หน้า 2-4

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓



วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๔ ปี ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ความรู้

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔