วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๖

หน้า ๒๔๐ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๖

“ในการทำงานให้สำเร็จผลสมบูรณ์ดังประสงค์ มีข้อสำคัญควรคำนึงอยู่ว่า การงานในระดับที่จะได้ทำต่อไปนั้น เป็นงานปฏิบัติทางวิชาการ หมายความว่าต้องอาศัยหลักวิชาเป็นพื้นฐาน และต้องอาศัยตัวท่านเองเป็นผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจึงต้องเป็นนักวิชาการที่ดีด้วย เป็นนักปฏิบัติที่ดีด้วย จึงจะช่วยให้สำเร็จผลสมบูรณ์ได้ ผู้ที่จะเป็นนักวิชาการและนักปฏิบัติการที่ดีดังกล่าว จำเป็นต้องฝึกฝนตนเองให้มีคุณสมบัติอย่างเพียงพอ เบื้องต้น ต้องมีความซื่อตรง จริงใจ และบริสุทธิ์ใจต่องานและต่อวิชาการของตน ไม่สับปลับ มักง่าย ไม่ประมาทเมินเฉย เพราะจะเป็นเหตุให้เสียงายและเสียคนพร้อมกันทั้งสองอย่าง ประการที่สอง เมื่อมีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจในงานแล้ว ก็ต้องเร่งตั้งใจปฏิบัติงานด้วยความหมั่นขยัน คืออุตสาหะพากเพียรร้างสรรค์ผลงาน จากพื้นฐานความเจริญที่มีอยู่แล้ว ให้งอกงามก้าวหน้า และมั่นคงขึ้นตามลำดับ ประการที่สาม ซึ่งเป็นประการสำคัญ จะต้องเฉลียวฉลาดในการปรับปรุงตัว ปรับปรุงงานให้ทันกาลทันเวลา และในการประสานสามัคคีประสานประโยชน์กับผู้ร่วมงานทุกคน ทุกระดับตลอดจนถึงผู้อื่นฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องถึงทั้งหมดด้วย ผลปฏิบัติงานของท่านจึงจะสัมฤทธิ์ผลที่พึงประสงค์ ช่วยให้เกิดความเจริญมั่นคงแก่ตนเอง แก่งาน แก่ส่วนรวม และแก่ประเทศชาติได้”



พระบรมราโชวาทนี้ สงเคราะห์เข้ากับหลักธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จแก่กิจการนั้นๆ ที่เรียกว่าอิทธิบาท ได้แก่ ธรรมะให้ถึงความสำเร็จ ซึ่งมี ๔ ประการ คือ

๑.ฉันทะ มีใจรัก คือ พอใจจะทำสิ่งนั้น และทำด้วยใจรัก ต้องการทำให้เป็นผลสำเร็จอย่างดีแห่งกิจหรืองานที่ทำ มิใช่สักแต่ว่าพอให้เสร็จๆ หรือทำเพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือผลกำไร

๒.วิริยะ พากเพียรทำ คือ ขยันมั่นประกอบกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย

๓.จิตตะ เอาจิตฝักใฝ่ คือ ตั้งใจรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย ใช้ความคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ เสมอๆ

๔.วิมังสา ใช้ปัญญาสอบสวน คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนเกินเลยบกพร่องขัดข้องเป็นต้นในสิ่งที่ทำนั้น โดยรู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น

ที. ปา. ๑๑/๒๓๑/๒๓๓

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง




ความรู้

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔