วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แนวคิดการกระจายอำนาจ

แนวคิดการกระจายอำนาจ
2.1.1. แนวคิดและทฤษฎีการกระจายอำนาจ
การกระจายอำนาจ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ มีหลักสำคัญคือ เป็นการโอนอำนาจการปกครองจากส่วนกลางไปให้ประชาชนในท้องถิ่นดำเนินการกันเอง ภายใต้ระเบียบ กฎหมายที่กำหนด หรือที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบการปกครองตนเอง
ความหมายของการกระจายอำนาจ
อารีย์ วงศ์อารยะ (2528) ให้คำนิยามว่า การกระจายอำนาจ หมายถึง การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจภารกิจบางอย่าง ในความรับผิดชอบของส่วนกลางไปให้ส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ดำเนินการจัดทำแผน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บริหาร และวินิจฉัยสั่งการ เป็นอิสระภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้
ประยูร กาญจนดุล (2538) ให้ความหมายว่า การกระจายอำนาจ หมายถึง การที่ส่วนกลางกระจายอำนาจภารกิจบางอย่างในความรับผิดชอบของส่วนกลางให้องค์กรอื่น นอกจากองค์กรของราชการบริหารราชการส่วนกลางเพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง โดยมีความอิสระตามสมควร ไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของราชการส่วนกลาง เพียงแต่อยู่ในความควบคุมเท่านั้น
ธเนศวร์ เจริญเมือง (2539) ให้ความหมายของการกระจายอำนาจว่า หมายถึง ระบบการบริหารประเทศที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ มีอำนาจในการจัดการดูแลกิจการหลายๆ ด้านของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจในการจัดการกิจการแทบทุกอย่างของท้องถิ่น กิจการท้องถิ่นต้องมีสิทธิจัดการดูแล มักได้แก่ระบบสาธารณูปโภค การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม การดูแลทรัพย์สินและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนกิจการใหญ่ๆ อย่างที่รัฐบาลกลางจะควบคุมไว้เด็ดขาด เช่น การทหาร และการต่างประเทศ
ลักษณะของการกระจายอำนาจ
1.มีการแยกหน่วยงานออกเป็นองค์กรนิติบุคคล อิสระจากองค์การบริหารราชการส่วนกลาง เพื่อการดำเนินงานที่ชอบด้วยกฎหมายและเพื่อผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนซึ่งต้องมีงบประมาณเป็นของตนเอง มีทรัพย์สิน หนี้สิน และเจ้าหน้าที่เพื่อการปฏิบัติงานของตน
2.มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปตามหลักการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง เพื่อเลือกตั้งตัวแทนของตนเองไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.มีวิธีการกระจายอำนาจเป็น 2 ลักษณะ คือ
3.1.การกระจายอำนาจบริหารทางเขตแดน (Territorial Decentralization) หรือเรียกอีกอย่างว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายถึง การจัดองค์กรบริหารโดยใช้อาณาเขตของท้องถิ่นและจำนวนประชากรภายในเขตพื้นที่นั้น เป็นหลัก ได้แก่ องค์กรบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือการจัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเอง
3.2.การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Decentralization by Service) หมายถึง การมอบอำนาจให้องค์กรสาธารณะ จัดทำกิจกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง เพื่อให้มีความอิสระในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับเทคนิค เช่น รัฐวิสาหกิจประเภทต่างๆ อาทิ เช่น การไฟฟ้า การประปา หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น
4.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลาง การปฏิบัติตามหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติหรือกระทำภายใต้การกำกับดูแลของส่วนกลางเป็นหลัก การกำกับดูแลเป็นมาตรการควบคุมลักษณะหนึ่ง ซึ่งกระทำต่อเมื่อมีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน อันเป็นหลักการสำคัญของการกระจายอำนาจทางการปกครอง (ประยูร กาญจนดุล, 2538)
ความสำคัญของการกระจายอำนาจ
1.การกระจายอำนาจเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยที่การปกครองท้องถิ่นเป็นเสมือนสถาบันในการอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง และเรียนรู้ในหลักการประชาธิปไตย ให้ประชาชนเกิดความรู้สึกมีส่วนได้ส่วนเสียในการปกครองท้องถิ่น เกิดความรับผิดชอบและหวงแหนต่อประโยชน์ของท้องถิ่น
2.การกระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนรู้จักบริหารและปกครองตนเองในการสร้างสรรพัฒนาท้องถิ่น มิใช่แต่เพียงรอนโยบายความช่วยเหลือจากส่วนกลางแต่เพียงอย่างเดียว
3.การกระจายอำนาจช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาลกลาง ทั้งนี้กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นดังกล่าวบางอย่างถือว่าเป็นภารกิจของรัฐบาลที่มอบอำนาจให้ดำเนินการ เป็นไปตามความต้องการของแต่ละท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิด และรู้ถึงปัญหาอย่างแท้จริง ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาล
4.การกระจายอำนาจมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านการพัฒนาชนบท ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง ในลักษณะที่มีความเป็นอิสระพอสมควร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอเอกสารประกอบการเรียน หลังมิดเทิอมด้วยครับ

ความรู้

พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับ "ความรู้"

“...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดถือเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอคือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้ความรู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔